“น้ำแม่ข่า” หรือ “คลองแม่ข่า” (Mae Kha Canal) ลำน้ำธรรมชาติ ที่ก่อกำเนิดลำน้ำจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ไหลผ่าน “เมืองเชียงใหม่” ที่มีปลายสายน้ำ ไหลลง “แม่น้ำปิง” ด้วยระยะทาง กว่า 30 กิโลเมตร ถือเป็น 1 ใน 7 ชัยมงคล ประกอบในการที่ พญามังราย เลือกชัยภูมิบริเวณนี้ในการสร้างเวียงสร้างเมือง “เชียงใหม่” ใน พ.ศ. 1839 เป็นคลองโบราณมีอายุกว่า 700 ปี 

เส้นทางการไหลของน้ำใน “คลองแม่ข่า” จากทิศเหนือ เข้าผ่านตัวเมือง ได้ไหลอ้อมตัวเวียงที่ล้อมรอบด้วย คูเมือง ในบริเวณใกล้ “แจ่งศรีภูมิ”  อ้อมเวียงทางทิศตะวันออก จึงเปรียบเสมือนคูเมืองชั้นนอก และยังเป็นลำคลองสำคัญ ที่เคยหล่อเลี้ยงด้วยน้ำสะอาด เป็นแหล่งอาหาร เป็นเส้นทางสัญจรของชุมชนผู้คนในเมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน

ด้วยการขยายตัวของผู้คน ที่อยู่อาศัย ที่พัฒนาตามโลกาภิวัตน์ ได้ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อ “คลองแม่ข่า” ด้วยปัญหาลำคลองที่แคบลง น้ำสะอาดไหลผ่านได้น้อยและไม่สะดวก มีสิ่งปฏิกูลของเสียลงสู่ลำคลองมาก จึงทำให้น้ำในลำคลองเน่าเสียอย่างรุนแรง

เทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่ามาอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการวางระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย ปรับปรุงภุมิทัศน์สองฝั่งคลองแม่ข่า ระยะที่ 1 ถนนระแกง–ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ระยะทางประมาณ 750 เมตร  ด้วยงบประมาณ 22 ล้านบาท เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมสองฝั่งคลอง ปรับภูมิทัศน์คลองแม่ข่า เปลี่ยนหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน ซึ่งโครงการดังกล่าวพัฒนาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565

โครงการ คลองแม่ข่า นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาฟื้นคืนชีพคลองแม่ข่าและชุมชนริมคลอง กลับมาใสสะอาด มีบรรยากาศที่สดชื่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชน และทุกภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยให้ “นำแม่ข่า” งดงามอีกครั้งเฉกเช่นอดีต  จนกลายมาเป็น “โอตารุ” เมืองไทย แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย-เทศในปัจจุบัน