ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส (C9 Hotelworks) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว และบริการระดับเอเชีย เปิดรายงาน Phuket Hotel Market Update 2023 (อัพเดตตลาดโรงแรมในภูเก็ต ประจำปี 2566) เผยข้อมูลความก้าวหน้าของการท่องเที่ยว “ภูเก็ต” จุดหมายปลายทางระดับโลกของนักเดินทางกลับมาบูมอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักทั่วทั้งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 48% จากปี 2564 ซึ่งมีอัตราการเข้าพักต่ำสุด 8% จากผลกระทบจากโควิด-19
จาก Phuket Hotel Market Update 2023 รายงานล่าสุดของซีไนน์ นับเป็นการตอกย้ำว่า “การท่องเที่ยวภูเก็ต” กลับเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ประเทศไทยยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย รวมถึงอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ซึ่งผลักดันให้โรงแรมและภาคบริการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ด้วยอัตราการเข้าพักทั่วทั้งตลาดที่เพิ่มขึ้นถึง 48%
กราฟการท่องเที่ยวภูเก็ตเริ่มทะยานสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงมีนาคม 2566 โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูเก็ตเป็นนักท่องเที่ยว “Snowbird” ที่หนีหนาวมาจากรัสเซียุเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก สแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักดั้งเดิมของเกาะ และอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนเกือบหนึ่งล้านในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการจำกัดการขนส่งทางอากาศโดยตรง เนื่องจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารที่พุ่งสูงขึ้น 200 – 300% ในหลายกรณี แต่ทั้งนี้จำนวนวันเข้าพักจากค่าเฉลี่ย 11 วัน กลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50%
ดาวน์โหลดรายงาน C9 Hotelworks – Phuket Hotel Market Update 2023 คลิกที่นี่
บิล บาร์เน็ต (Bill Barnett) กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส (C9 Hotelworks) กล่าวว่า “การมาถึงของนักท่องเที่ยวจากรัสเซียไม่เพียงแต่สร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวให้กับเกาะภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังแผ่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก การขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มผู้นำด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (direct foreign investment FDI) ที่เฟื่องฟูที่สุดของภูเก็ต ซึ่งจะเห็นได้จากราคาที่ดินทั่วเกาะมีอัตราที่สูงขึ้นในรอบกว่าสองทศวรรษ”
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขและแนวโน้มสำคัญในอุตสาหกรรมการบริการของภูเก็ต การวิจัยของซีไนน์ยังชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของธุรกิจโรงแรมจำนวนมากที่พลิกโฉมจากการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ โดยเปลี่ยนจากข้อตกลงการจัดการแบบเดิมเป็น “แฟรนไชส์” รวมทั้งเปลี่ยนแบรนด์บริหาร ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดระดับโลก อาทิ “เดสทิเนชั่น กรุ๊ป” (Destination Group) ผู้พัฒนาโรงแรมแระรีสอร์ตเจ้าใหญ่ในภูเก็ต ได้บรรลุข้อตกลงกับ “อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์ กรุ๊ป” (InterContinental Hotels Group : IHG) เพื่อเปิดตัวโรงแรม “ฮอลิเดย์ อินน์” (Holiday Inn) แห่งใหม่ในภูเก็ต และได้ร่วมมือกับ “กลุ่มเรดิสัน” (Radisson) เพื่อเตรียมเปิดโรงแรมอีกสองแห่ง นอกจากนี้ “อาเคเดีย” (Arcadia) หนึ่งในกลุ่มโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของเกาะยังได้รับการเปลี่ยนสถานะเป็น “พูลแมน” (Pullman) แบรนด์ในเครือแอคคอร์ (ACCOR) ขณะที่ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” (Asset World Corporation : AWC) ยักษ์ใหญ่ด้านการบริการของไทย ได้ยกระดับ “เวสทิน สิเหร่ เบย์” (Westin Siray Bay) ให้เป็นรีสอร์ตหรูภายใต้แบรนด์ “ริทซ์–คาร์ลตัน” (Ritz-Carlton) อีกด้วย
แม้จะมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก แต่จากรายงานฉบับบี้ยังได้เผยข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของภูเก็ตที่สวนทางกลับการเติบโตของเมือง การเติบโตของจำนวนประชากร การพัฒนาที่แพร่กระจายไปยังพื้นที่ภายใน และความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่พุ่งสูงขึ้นได้สร้างปัญหาการจราจรขนาดใหญ่ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อดินถล่มปิดทางสัญจรที่สำคัญระหว่างแหล่งท่องเที่ยวป่าตองยอดนิยมกับถนนสายหลัก และความล่าช้าในการซ่อมแซมทำให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนในการเข้าถึงโรงแรมชายฝั่งตะวันตกในช่วงฤดูท่องเที่ยว และแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายการขนส่งของเกาะนั้นเปราะบางเพียงใด
“การขาดแผนแม่บทการท่องเที่ยวเฉพาะสำหรับเกาะนี้เป็นปัญหาสำคัญในระยะยาวที่ต้องแก้ไขอย่างมาก ด้วยเที่ยวบินของสนามบินและการไหลเวียนของผู้โดยสารทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สนามบินพังงาแห่งใหม่มีความสำคัญเพียงใด รวมถึงโครงการทางด่วนและอุโมงค์ป่าตองซึ่งเป็นเส้นชีวิตที่สำคัญสำหรับการเติบโตของเกาะในอนาคต เราได้ขยายตัวเมืองแล้ว และเรามีห้องพักโรงแรมที่ลงทะเบียนแล้วเกือบ 100,000 ห้องบนเกาะ เรามาไกลเกินกว่าจะกลับไปแล้ว” บิล บาร์เน็ตกล่าวปิดท้าย