นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลงฉบัง ระยะที่ 3 จังหวัดชลบุรี เพื่อดึงดูดนักลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี พร้อมศึกษาเส้นทางแข่ง F1 ที่เมืองพัทยา
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เพื่อติดตามโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี รายงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ พลเรือเอก อะดุง พันธ์ุเอี่ยม
ผู้บัญชาการทหารเรือ รายงานโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้อง และนายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด รายงานการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี และการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะงานด้านระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ ๆ เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ก่อสร้างแล้ว 26.42% ระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ก่อสร้างแล้ว 48.41% และงานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างแล้ว 98.44% เป็นต้น ในส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 นี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญ ๆ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572
โดยการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค เป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ยังติดปัญหาความล่าช้าบ้าง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในปลายเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ จะได้ข้อสรุปทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในมาตรฐานระดับโลก และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง
โดยขณะนี้ ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี มีภาคเอกชนได้เข้ามาหารือกับ อีอีซี และสนใจใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่อยู่กว่า 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ทีได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม BCG โดย อีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนจริง ให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2567 – 2571
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีศึกษาดูเส้นทางการแข่งขัน F1 ณ ลานกิจกรรมกลางแจ้งริมหาดบ้านอำเภอ จังหวัดชลบุรี และได้พูดคุยกับ Mr.Mark Hughes ที่ปรึกษาด้านการแข่งขันรถ F1 บริษัท Mrk1 consulting ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขัน
โดย นายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงความเป็นไปได้ของการจัดการแข่งขัน ผ่านเฟสบุกว่า “จากการสำรวจศักยภาพการจัดแข่งขัน F1 ในไทยที่หาดจอมเทียน ที่มีการจัด 2 แบบ โดยแบบแรก คือ circuit race ที่ใช้สนามแข่ง ซึ่งจะสามารถควบคุมเรื่องความปลอดภัยได้ง่าย ซึ่งที่อู่ตะเภามีโครงการที่จะการสร้างสนามแข่งรถแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะจัดแข่งได้ตามมาตรฐานของสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (FIA) และอีกรูปแบบของการจัด คือ city race ที่เป็นการแข่งบนถนนจริงๆ เส้นทางเน้นทัศนียภาพ และความสวยงามของเมือง ซึ่งเราดูความเป็นไปได้ทั้งที่กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา โดยวันนี้มาดูความเป็นไปได้ที่จะจัดในเส้นทาง บริเวณรอบหาดจอมเทียน ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงถนนและองค์ประกอบอื่นของสนามแข่ง เช่น อัฒจันทร์ และฉากกั้น เพื่อให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ F1 เป็นงานใหญ่ งานยาก แต่ก็เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล
นายเศรษฐา ยังกล่าวอีกว่า “ผมมาติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่เป็นเมกกะโปรเจคต่อเนื่องมาหลายรัฐบาลแล้ว พื้นที่จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้เป็นโครงข่ายหลักในการขนส่งจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมือง และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวสู่จังหวัด EEC รวมถึงจังหวัดน่าเที่ยวแถบนี้ รวมทั้งยังช่วยลดความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ดังนั้น ขอให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำกับให้ผู้รับสัมปทานเร่งก่อสร้างให้เสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ขอให้ภาคเอกชนมั่นใจว่า โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะมีความชัดเจนให้เห็นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอนครับ”
ขอบคุณที่มาและภาพจาก www.facebook.com/eecwecan