เอสซีจี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน INTERCEM Asia 2025 งานประชุมด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ระดับโลก ที่รวบรวมผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีใหม่พร้อมเปิดมุมมองขยายโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางความท้าทาย และการปรับตัวรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการก่อสร้าง, ลูกค้า และตลาดเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ
ภายในงาน เอสซีจี ได้แสดงศักยภาพในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ที่พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมกรีน เพื่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนแนวทาง Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นจุดแข็งด้านนวัตกรรมกรีน Low-carbon Cement และโซลูชันงานก่อสร้างอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย และตลาดโลกผ่านไฮไลต์
SCG LC3 Structural Cement: ปูนงานโครงสร้าง คาร์บอนต่ำ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 30-40% โดยไม่กระทบต่อคุณภาพการใช้งาน โดดเด่นด้วยมาตรฐานระดับสากล เหมาะสำหรับงานโครงสร้าง ที่ต้องการความแข็งแรงควบคู่ความยั่งยืน
SCG 3D Printing: โซลูชันก่อสร้างยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพขึ้นรูปสามมิติปูนคาร์บอนต่ำ ช่วยเพิ่มความเร็ว ในการก่อสร้าง ลดเศษวัสดุ ลดแรงงาน และเปิดทางสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมอิสระ ชูศักยภาพของเอสซีจี ในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับอุตสาหกรรมก่อสร้าง
การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระดับเวทีโลกในอุตสาหกรรมผู้ผลิตปูนซีเมนต์แล้ว แต่ยังเปิดโอกาสในการขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ ระดับโลก การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีระดับนานาชาติ การต่อยอดโอกาสทางการค้า พร้อมผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในระดับภูมิภาค ที่ธุรกิจต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สำหรับเอสซีจี ผู้นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในไทย และภูมิภาคอาเซียน นำโดย คุณมนสิช สาริกะภูติ Chief Innovation & Technology Officer ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ที่มาร่วมนำเสนอมุมมองเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่โมเดลธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ กล่าวว่า เอสซีจี มีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ จากการผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีต ภายในปี 2050 พร้อมบูรณาการความยั่งยืนด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต เทคโนโลยีการก่อสร้างและความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 4 กรีน ได้แก่
Green Products: การพัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์ และคอนกรีตคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเอสซีจี นับเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน EPD (Environmental Product Declaration) มาตรฐาน North America
Green Process: เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก และการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต โดยมีเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก 70 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานทดแทน 53 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2030 และตั้งเป้า100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2040
Green Construction: การพัฒนาโซลูชันส์การก่อสร้างอย่างยั่งยืน ด้วยการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ ลดระยะเวลา และลดการใช้ทรัพยากร
Green Society: ความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้เป็นไปได้จริง
ด้าน คุณเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร Bio-Circular Business Director ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง Saraburi Sandbox เมืองคาร์บอนต่ำต้นแบบแห่งแรกของไทย ในการผลักดันคลัสเตอร์อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ผ่านแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเรียกว่ารูปแบบ PPPP (Public – Private – People – Partnership) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนถึง 5 ล้านตัน CO2 ภายในปี 2027 ซึ่งโครงการนี้ มุ่งเน้นไปที่ 5 ด้านหลัก ได้แก่
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล
การเปลี่ยน Waste ให้มีมูลค่า ดำเนินการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และการรีไซเคิลเพื่อลดขยะ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม
อุตสาหกรรมสีเขียว และผลิตภัณฑ์สีเขียว ส่งเสริมการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ โดยลดการใช้ปูนเม็ด และเพิ่มการใช้วัสดุทางเลือก เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต
อุตสาหกรรมการเกษตรคาร์บอนต่ำ สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ ใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ช่วยลดการเผาพืชผล และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
พื้นที่สีเขียว และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ขยายพื้นที่ป่า และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เอสซีจี ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมกรีน และโซลูชันงานก่อสร้างคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ความร่วมมือวันนี้ คือรากฐานของอนาคตที่มั่นคง และยั่งยืน” สอดคล้องตามแนวทาง “Inclusive Green Growth”