‘สวีเดน’ เล็งศักยภาพด้านอวกาศไทยเหมาะสมทั้งทำเลที่ตั้ง ศักยภาพบุคลากร ตลอดจนการสนับสนุนจากทางรัฐบาล จึงปักหมุดให้ไทยเป็น ‘ฮับ’ ด้านอุตสาหกรรมอวกาศในเอเชียแปซิฟิก พร้อม ดันไทยเข้าสู่ Global value chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl, Swedish Ambassador to Thailand) และผู้บริหารบริษัท SSC Space Thailand พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมหารือเรื่องความร่วมมือด้านอวกาศร่วมกัน โดยมี คุณทรงศัก สายเชื้อ ที่ปรึกษา GISTDA นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมคณะให้การต้อนรับ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ (Space Krenovation Park : SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นายตติยะ ชื่นตระกูล กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ทางเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมกิจการอวกาศของประเทศไทย ซึ่ง SKP เป็นส่วนหนึ่งของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จะได้มีโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการทางด้านอวกาศ
โดยในพื้นที่ SKP มีการดำเนินโครงการลงทุนสถานีดาวเทียมร่วมกับบริษัท SSC ซึ่งถือเป็นโครงการแรกเริ่มในการลงทุนด้านธุรกิจอวกาศของบริษัทต่างประเทศในประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลสวีเดนและบริษัท SSC ต่อนโยบายและศักยภาพด้านอวกาศของไทยในพื้นที่ EEC เพื่อหวังจะให้พื้นที่ EEC เป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวกับอวกาศ พร้อมทั้งสร้างให้เป็นจุดศูนย์รวมในการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาค และยังช่วยผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global value chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศสวีเดน เป็นผู้ริเริ่มโครงการเพื่อความยั่งยืนโดยให้ SSC ในฐานะผู้นำในด้านนี้ได้ก่อตั้ง Global Trust ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ SSC ที่ใช้ประโยชน์ของดาวเทียมเพื่อชี้นำองค์กรต่างๆ ทั่วโลกในการพัฒนาและนำเสนอกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาแบบยั่งยืน
นอกจากนี้ SSC ยังร่วมมือกับ USN ซึ่งเป็นบริษัทในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศให้บริการสถานีภาคพื้นดินเชิงพาณิชย์แห่งแรกในระดับโลก และมีประสบการณ์ในการสร้างดาวเทียมรวมถึง Payload ของดาวเทียม ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องเกี่ยวกับภารกิจบอลลูนและจรวด รวมถึงโครงการอวกาศอื่น ๆ เช่นเดียวกับภารกิจ ISS (สถานีอวกาศนานาชาติ) และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ด้วยการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเพื่อไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ หรือ Smart-1 อีกทั้งมองเห็นการจัดทำ Spaceport (ท่าอวกาศยาน) ที่มีแนวโน้มอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งได้มองเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศที่มีความก้าวหน้าแบบไม่มีที่สิ้นสุด
จากความร่วมมือกับ GISTDA เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 บริษัท SSC ได้ใช้สถานีดาวเทียมในประเทศสวีเดนเพื่อให้บริการติดตามยืนยันตำแหน่งของดาวเทียมค้างฟ้าที่อยู่ในห้วงอวกาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรวมถึงการให้บริการปรับแก้ข้อมูลเชิงตำแหน่งให้กับดาวเทียมนำทางของญี่ปุ่น (QZSS) จนมาถึงปัจจุบัน
ด้วยศักยภาพด้านอวกาศของไทยมีความเหมาะสมทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง ศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการสนับสนุนจากทางรัฐบาลทำให้ทางรัฐบาลประเทศสวีเดนและบริษัท SSC ตัดสินใจลงทุนตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ในพื้นที่ประเทศไทย
โดยให้ GISTDA เป็น Strategic Partner และได้กำหนดให้ประเทศไทยเป็น Hub ในพื้นที่อาเซียนจึงได้จัดตั้งโครงการ SSC Space Thailand เพื่อนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งหมดมาช่วยสร้างระบบนิเวศอวกาศของไทย โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน และบริษัทของไทยในการพัฒนาโครงการอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยและอาเซียนต่อไป ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.bangkokbiznews.com/
Comments are closed.