หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี มีการอนุมัติเห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง 4 กลุ่ม ข้อหนึ่งในมติคือการให้จัดทำ “วีซ่าระยะยาว” (Long-term Resident Visa) มุ่งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติฐานะดี เข้ามาพำนักในไทย เพื่อเพิ่มกำลังซื้อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการวางแผนในระยะ 5 ปี (2565-2569) ตลอดระยะโครงการหวังผลดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน แต่ละคนมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี 

ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์ พร้อมเตรียมขานรับมาตรการดังกล่าว เพราะเป็นการเพิ่มตัวช่วยกำลังซื้อจากลูกค้าต่างชาติโดยตรง 

ทางด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เผยว่า “เป็นมาตรการที่ดีและจะเป็นตัวช่วยดึงดูดความสนใจได้มาก ทั้งการเปิดโอกาสให้ซื้อและเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการให้วีซ่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีมาตรการกระตุ้น หลายประเทศมีการแข่งขันดึงดูดนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน โดยประเมินว่าเมื่อมาตรการบังคับใช้แล้วยังไม่เห็นผลมากนักในปี 2565 และคาดว่าเริ่มเห็นผลตอบรับที่ดีในปี 2566”

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) มีดังนี้

1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)

กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน

2. การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร

ทั้งนี้ ครม. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

4 กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย

1 กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

2 กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

3 กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

4 กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

สิทธิประโยชน์ที่ต่างชาติ 4 กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ มีดังนี้

1. สิทธิประโยชน์ วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR vasa) อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร

2. ยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน

3. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ

4. สามารถถือครองห้องชุดและบ้านจัดสรรในโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ที่กำหนด

มาตรการดึงต่างชาติส่งผลอย่างไร

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดระยะเวลาดำเนินการมาตรการภายใน 5 ปีงบประมาณ (พ.ศ. 2565-2569) จะช่วยให้

1. เพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน

2. เพิ่มปริมาณใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

3. เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท

4. ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เร่งพิจารณาดำเนินการภายใน 90 วัน และให้รายงานความคืบหน้าของผลการพิจารณาผ่าน สศช. เพื่อนำเสนอให้ ครม. ทราบต่อไป

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้นไม่มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการใหม่ของรัฐบาล เพราะการทำแบบนี้คือให้กรมที่ดินไปศึกษาแก้ไขกฎหมาย แต่สุดท้ายต้องไปแก้ พ.ร.บ.อาคารชุด ซึ่งต้องเข้าสภา ในขณะที่การประชุมสภาในบรรยากาศการเมืองที่มีความวุ่นวายแบบนี้ จึงมองว่าขั้นตอนไม่น่าจะทันพิจารณาในรัฐบาลนี้ และสถานะอาจเป็นแค่การศึกษาแก้ไขกฎหมายของหน่วยงาน

ทั้งนี้ ในมุมมองมาตรการนี้ถ้าทำได้แล้วมาช่วยระบายสต๊อกค้างของคอนโดฯก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะตอนนี้ขายไม่ได้ เหลือสต๊อกเยอะ ตลาดคอนโดฯน็อกมาแล้ว 2 ปี กรณีให้วีซ่า 10 ปี เป็นเรื่องดี จากปัจจุบันชาวต่างชาติต้องต่อวีซ่าทุก 3 เดือน มีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่าย

“จริง ๆ ดีมานด์อสังหาฯยังมีอยู่ตลอดเวลา ดีเวลอปเปอร์มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม ตอนนี้ปัญหาสำคัญที่สุด คือ แบงก์เข้มงวดการให้สินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดฯ ทำให้แม้มียอดขายแต่ไม่สามารถโอนได้ โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ราคา 2 ล้านบวกลบ ที่มียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงมาก”

ขอบคุณที่มา : เดลินิวส์ / ประชาชาติ