อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทยปัจจุบัน ที่ถูกขุดค้นพบและจัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2527
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ยูเนสโกได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ถือเป็นศาสนสถานอันทรงคุ้มค่า
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นตัวแทนของเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีจากหลักฐานที่ค้นพบ การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนพัฒนาตนเองด้วยการติดต่อกับสังคมภายนอก และรับวัฒนธรรมทางศาสนา จากอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 11 และเรียนรู้การขุดคูน้ำคันดิน ทำเป็นคูเมือง กำแพงเมือง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เมืองโบราณศรีเทพ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ถูกนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทั้งหมด 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่
– เมืองโบราณศรีเทพ
– โบราณสถานเขาคลังนอก
– โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์
ภายใต้เกณฑ์คุณค่าที่โดดเด่นอันเป็นสากล และความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์
พบหลักฐานสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดั้งเดิมในวัฒนธรรมทวารวดีกับวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 การรับศาสนาพราหมณ์และพุทธทั้งแบบเถรวาทและมหายาน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 คือการเข้ามามีอิทธิพลอย่างถาวรของพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์พบหลักฐาน เช่น รูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์และศาสนสถาน
มีอัตลักษณ์ของตนเองตั้งแต่ลักษณะการวางเมืองที่มีลักษณะเป็นเมืองแฝดหรือเมืองขยาย คือ “เมืองใน” และ “เมืองนอก” พบหลักฐานงานศิลปกรรมใน “สกุลช่างศรีเทพ” ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวได้รับการยกย่องจากนักวิชาการเรื่องเทคนิคงานช่างเมืองศรีเทพที่กล้าสร้างประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง
“เมืองโบราณศรีเทพ” ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่กว่า 2,889 ไร่ มีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง
นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณอีกกว่า 70 แห่ง สะท้อนความรุ่งเรืองของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจน ถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โดยยังเห็นร่องรอยของชุมชนโบราณเมือง แหล่งศาสนสถานรวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูก และข้าวของเครื่องใช้อีกมากมาย สะท้อนอารยธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี