จากรายงานเศรษฐกิจของประเทศไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2567 มีการขยายตัวของ GDP เพียงร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในโตรมาส 1 ปี 2567 มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากกลุ่มอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่ายขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลง ขณะที่ภาคการเกษตรและการลงทุนลดลงต่อเนื่อง
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ได้ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งได้ส่งผลต่อภาวะอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในไตรมาส 2 ปี 2567 ที่สะท้อนออกมาให้เห็นการปรับตัวลงของด้านอุปสงค์ที่อยู่อาศัยผ่านการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยลดลงร้อยละ -4.0 และร้อยละ -10.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ปรับตัวลงถึงร้อยละ -16.7 และร้อยละ -14.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ในไตรมาล 2 ปี 2567 ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมอุปสงค์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าถึงร้อยละ -10.3 และร้อยละ -12.1 ตามลำดับ โดยพบว่า มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบมีการปรับตัวลดลงร้อยละ -11.1 และอาคารชุดการปรับตัวลดลงร้อยละ -14.2
การปรับตัวลงของด้านอุปสงค์ได้ส่งผลให้เกิดการปรับตัวในด้านอุปทานอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2567 โดยจะเห็นได้จากการที่จำนวนโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินปรับตัวลดลง ร้อยละ -46.5 ที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ลดลงร้อยละ -15.7 และจำนวนพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลงร้อยละ -23.4 ที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ลดลงร้อยละ -8.0 ซึ่งได้ส่งผลให้ภาพรวมอุปทานในครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวนโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงร้อยละ -29.8 โดยจังหวัดชลบุรีที่มีสัดส่วนใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุดถึงร้อยละ 48.5 ลดลงร้อยละ -15.1 จังหวัดระยองที่มีสัดส่วนใบอนุญาตจัดสรรร้อยละ 42.3 ลดลงร้อยละ -34.1 และจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีสัดส่วนร้อยละ 9.2 ลดลงร้อยละ -62.3 ขณะที่พื้นที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างในภาพรวม 3 จังหวัด EEC ในครึ่งแรกปี 2567 ลดลงร้อยละ -15.3 โดยลดลงทั้งแนวราบและอาคารชุดลดลงที่ร้อยละ -10.9 และร้อยละ -60.8 ตามลำดับ
ภาวะที่อุปสงค์และอุปทานในครึ่งแรกปี 2567 ที่ลดลงอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยลบในปี 2566 ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.50 และยังมีแนวโน้มคงตัวในระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ การยกเลิกการผ่อปรนมาตรการ LTV ของ ธปท. ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ราคาที่อยู่อาศัยและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ธุรกิจในภาคอุตสาทกรรมที่เป็นเศรษฐกิจหลักของภาคตะวันออกถูกกดดันจากปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในบางอุตสาหกรรมและอาจมีผลกระทบต่อการจ้างงาน รวมถึงภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 90
อย่างไรก็ตามสำหรับบางอุตสาหกรรมอาจมีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ใน EEC เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุน และยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากรัฐบาลที่ออกมาตรการมากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 รัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม โดยปรับลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อยละ 2 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อยละ 1 เหลือประเภทละร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด และได้เพิ่มราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์จากเดิมที่เคยให้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567