กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า เป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า กว่า 16 ปี ที่ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2548  และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ใน พ.ศ. 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า ก่อนหน้าหน้า กระทรวงฯ ได้พยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ แก้ไขปัญหารอบด้าน เพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้แก่ผืนป่าแก่งกระจาน และในครั้งนี้ ได้แก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยประมาณร้อยละ 80 แก้ไขปัญหาตามที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ชี้แนะ

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ใน พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ใน พ.ศ. 2548

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี  มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร ที่นี่เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยเขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese

.

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเขตนิเวศอินโดมาลายันซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภูมิศาสตร์ย่อยของพืชพันธุ์สัตว์ป่าหลายเขตมาประจบกัน อีกทั้งยังเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย และบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรียังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อคลานขนาดใหญ่ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างจระเข้น้ำจืด (Siamese Crocodile) ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพถ่าย : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

.

ข้อมูลอ้างอิง National Geographic Thailand

Comments are closed.